สตรีทอาร์ต ยะลา Bird City Street Art ใต้สะพานดำ (สะพานรถไฟยะลา) จุดเริ่มต้นที่แยกโรงพยาบาลยะลา ไปตามเส้นทางถนนสิโรรส แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนนวลสกุล จุดที่2บริเวณใต้สะพานดำ(สะพานรถไฟยะลา)
“Bird City Street Art” สตรีทอาร์ตแห่งเมืองยะลา สาเหตุที่ใช้คำว่า Bird City นั่นก็เพราะว่ายะลาถือเป็นเมืองแห่งนก มีประวัติศาสตร์การเลี้ยงนกมานับพันปี จนมาถึงปัจจุบันก็ยังนิยมเลี้ยงนกกันอยู่จนกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น โดยเฉพาะนกกรงหัวจุกและนกเขายะลา เลี้ยงนกจนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีธุรกิจเกี่ยวกับนกแบบครบวงจร และยังมีการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ สำหรับภาพสตรีทอาร์ตในเมืองยะลา จะอยู่ในบริเวณถนนนวลสกุล ภายใต้แนวคิดเสพศิลป์ ถิ่นบินหลา โดยมีศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังหลายคนมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะลงบนฝาผนัง ซึ่งปัจจุบันมีผลงานสตรีทอาร์ตทั้งหมด 14 จุด สามารถเดินชมต่อเนื่องกันได้อย่างสะดวก
สตรีทอาร์ตใต้สะพานดำ (สะพานรถไฟ ยะลา) “ดอกไม้งามปาตานีกับโยคีแห่งพระนคร” สาเหตุที่ได้ตั้งชื่อผลงานดังกล่าว ต้องการสื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียว ความเข้มแข็ง และความงาม โดยภาพที่วาดนั้นประกอบด้วยช้างซึ่งวาดเพียงแค่ส่วนหัวเท่านั้น ความหมายของช้างสื่อถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเรา อีกอย่าง จ.ยะลา ก็มีช้างเป็นสัตว์คู่เมืองยะลาเช่นกัน อย่างที่เรารู้จักกันดีถึงที่มาของอาคารพระเศวตสุรคชาธาร หรือสนามโรงพิธีช้างเผือกยะลา และในส่วนของดอกไม้ที่ต่อจากส่วนหัวของช้างนั้น เป็นลวดลายของดอกพันธุ์พฤกษาหรือเรียกว่า บูงอปัตตานี ดอกไม้ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ บ่งบอกถึงความงดงาม บนความเข้มแข็ง สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ชายแดนใต้บ้านเราได้เป็นอย่างดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น