เทศบาลเมืองเบตงได้ทำการตกแต่งประดับประดาโคมไฟต้อนรับเทศกาลตรุษจีน โดยติดตั้งรอบเมืองเบตง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเบตง และสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้คึกคัก และสัมผัสบรรยากาศหน้าหนาวปีใหม่นี้ด้วย ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่สนใจให้มาถ่ายรูป เซลฟี่สวยๆเก็บไว้เป็นที่ระลึก
สาระ บันเทิง การท่องเที่ยว กิจกรรมทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องรอบตัวเรา และเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยของเมืองเบตง สถานที่ต่างๆที่เคยไปมา อาหารการกินของคนท้องถิ่น เผยแพร่เรื่องราวต่างๆในมุมมองของชีวิตผ่านสายตาของท่านผู้ชมทุกคน กับเรื่องราวต่างๆที่ได้ถ่ายทอดออกมาซึ่งอาจมีประโยชน์ด้านข่าวสารและเป็นประสบการณ์ความทรงจำของชีวิตเรา
วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564
วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564
วิธีสมัครเราชนะ
วิธีสมัครเราชนะ
1. เข้าสู่เว็บไซต์ www.เราชนะ.com
2. กดคำว่า "ลงทะเบียนใหม่" (ปุ่มสีแดง) จากนั้นกรอกข้อมูล
ชื่อ-สกุล
เลขบัตรประจําตัวประชาชน
รหัสหลังบัตรประจําตัวประชาชน
วันเดือนปีเกิด
เบอร์โทรศัพท์
3. ใส่รหัส OTP ซึ่งจะส่งจากเบอร์โทรศัพท์ที่ใส่ในระบบ
4. ระบบจะขึ้นข้อความว่า "ระบบได้รับข้อมูลของท่านแล้ว โดยจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของท่านตามเงื่อนไขโครงการต่อไป" โดยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
. ผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ได้ลงทะเบียนคนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน จะต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com โดยเปิดวันแรก 29 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 06.00-23.00 น. โดยผู้ที่ต้องการลงทะเบียน "เราชนะ" จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง
4. ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
สะพานยีลาปัน Yilapan Bridge, Thailand
สะพานยีลาปัน เป็นอนุสรณ์สะพานโบราณข้ามแม่น้ำปัตตานี ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 410 เบตง-ยะลา ได้มีการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2484 หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาราว 10 ปี เป็นสะพานเหล็กที่มีฐานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาว 239 เมตร กว้าง 6 เมตร ขณะดำเนินการก่อสร้างเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานกว่า 10 ปี และได้ตั้งชื่อว่า “สะพานหงสกุล” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่นายถวัลย์ หงสกุล นายช่างแขวงการทางยะลา ซึ่งสะพานแห่งนี้ได้มีการซ่อมแซมบำรุงถึง 2 ครั้ง โดยล่าสุด ได้มีการเสริมพื้นสะพานให้เป็นเหล็กรางผึ้งทั้งหมด เพื่อให้เกิดความคงทนถาวร จนกระทั้งในปี 2538 แขวงการทางยะลา ก็ได้สร้างสะพานคอนกรีตขึ้นมาทดแทนเนื่องจากสะพานยีลาปัน แคบไม่สะดวกในการสัญจร จึงมีการสร้างใหม่เพื่อนทดแทนของเดิม ปัจจุบันสะพานยีลาปัน ได้กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของอำเภอบันนังสตา เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของพื้นที่แห่งนี้ นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาสามารถแวะถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้
วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564
เส้นทางวัดช้างให้ -ท่าสาป -ยะลา- กรงปินัง
เส้นทางวัดช้างให้ -ท่าสาป -ยะลา- กรงปินัง โดยจุดเริ่มต้นที่วัดช้างให้ (เส้นทางชนบท ปน 3032)หลังจากเที่ยววัดช้างให้ จะเดินทางกลับยังเมืองเบตง ออกจากซุ้มประตูวัดช้างให้เลี้ยวซ้าย โดยใช้เส้นทางหมายเลข 409 ขับจนมาถึงไฟแดงบ้านลำพะยา แล้วตรงไปจนข้ามสะพานถึงไฟแดงให้เลี้ยวซ้าย ใช้เส้นทาง ยล 3003 (บ้านท่าสาป ระยะทาง 7 กิโลเมตร ) ไปยะลา 9 กิโลเมตร ขับไปจนถึงไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายใช้เส้นทางหมายเลข 409 ตรงไปแล้วข้ามสะพานแม่น้ำปัตตานี ถึงไฟแดงตรงไปจนถึงสี่แยกไฟแดงโรงพยานบาลยะลาให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสิโรรส ขับไปจนถึง 5 แยกสะเตงให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 15 ขับตรงไปจนถึงแยกมลายูบางกอกให้เลี้ยวขวา แล้วขับตรงไปจนถึงแยกพงยือไรให้เลี้ยวซ้ายแล้วไปกลับรถ ใช้เส้นทางหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ขับตรงไปจนถึงกรงปินัง จากกรงปินังไปเบตงระยะทางประมาณ 111 กิโลเมตร
วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564
ทริปที่ 9 หลวงพ่อทวด วัดช้างให้
วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม เดิมชื่อ วัดช้างให้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย
ประวัติ พระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี ปรารถนาจะหาที่ชัยภูมิที่ดีสร้างเมืองให้ เจ๊ะสิตี ผู้เป็นน้องสาวครอบครอง เมื่อโหรหาฤกษ์ยามได้เวลาท่านเจ้าเมือง ก็เสี่ยงสัตย์อธิษฐานปล่อยช้างตัวสำคัญคู่บ้านคู่เมืองออกเดินป่าหรือเรียกว่าช้างอุปการเพื่อหาชัยภูมิดีสร้างเมืองเจ้าเมือง ก็ยกพลบริวารเดินตามหลังช้างนั้นไปเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่งช้างได้เดินหยุดอยู่ ณ ที่ป่าแห่งหนึ่ง (บริเวณวัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม) แล้วเดินวนเวียนร้องขึ้น ๓ ครั้ง พระยาแก้มดำถือเป็นนิมิตที่ดีที่จะสร้างเมือง ณ ที่ตรงนี้ แต่เมื่อน้องสาวตรวจดูแล้วก็ไม่พอใจ ท่านเจ้าเมืองก็อธิษฐานให้ช้างเดินหาที่ใหม่ต่อไป ช้างได้เดินรอนแรมอีกหลายวันเวลาตกเย็นวันหนึ่งก็หยุดพักพลบริวาร ทางน้องสาวถือโอกาสออกจากที่พักเดินเล่น บังเอิญขณะนั้นมีกระจงสีขาวผ่องตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้านางไป นางอยากได้กระจงตัวขาวตัวนั้นจึงชวนพวกพี่เลี้ยงวิ่งไล่ล้อมจับกระจง กระจงได้วิ่งวกไปวนมาบนเนินทรายขาวสะอาดริมทะเล (ในปัจจุบันคือบริเวณตำบลกรือเซะ) ทันใดนั้นกระจงก็หายไป นางเจ๊ะสิตีรู้สึกชอบที่ตรงนี้มากจึงขอให้พี่ชายสร้างเมืองให้ เมื่อพระยาแก้มดำปลูกสร้างเมืองให้น้องสาวและมอบพลบริวารให้ไว้พอสมควรเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเมืองปะตานี (ปัตตานี) ในขณะพระยาแก้มดำเดินทางกลับมาถึงภูมิประเทศผ่านบริเวณ ที่ช้างบอกให้แต่ครั้งแรกก็รู้สึกเสียดายสถานที่ จึงตกลงใจหยุดพักแรมทำการแผ้วถางป่า และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่า “วัดช้างให้” หลังจากสร้างวัดเรียบร้อยแล้ว พระยาแก้มดำก็ได้กราบนิมนต์สมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) หรือที่ชาวไทรบุรีเรียกว่า "ท่านลังกา" ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่เมืองไทรบุรีมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด)หรือท่านลังกามาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว แต่ท่านก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดช้างให้กับเมืองไทรบุรี แต่ท่านก็ได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ไว้ว่า ....ถ้าท่านมรณภาพลงเมื่อใดก็ให้นำสรีระของท่านกลับมาฌาปนกิจที่วัดช้างให้... ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) มรณภาพลูกศิษย์ก็ได้นำสรีระของท่านกลับมาที่วัดช้างให้เพื่อฌาปนกิจเสร็จแล้ว ก็ฝังอัฐิของท่านไว้ที่วัดช้างให้ อีกส่วนหนึ่งนำกลับไปฝังไว้ที่เมืองไทรบุรี (รัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย) หลังจากกาลมรณภาพของสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) วัดช้างให้ก็ทรุดโทรมและเสี่อมลงเพราะไม่มีพระอยู่จำพรรษาจนกลายสภาพเป็นวัดร้าง อยู่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระครูมนูญสมณการ วัดพลานุภาพ ได้ชักชวนชาวบ้านเข้าไปพัฒนาวัดช้างให้เพื่อให้สะดวกกับการที่พระจำพรรษา โดยทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้น โดยให้พระช่วง พร้อมพระอนุจร มาอยู่จำพรรษาในปีนั้น เมื่อพระช่วงมาอยู่ก็ได้ดำเนินการสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้นประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง และกุฏิ ๓ หลัง อยู่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระช่วงได้ลาสิกขา ทำให้วัดช้างใหขาดเจ้าอาวาสและผู้นำลงอีกช่วงหนึ่ง นายบุญจันทร์ อินทกาศ (กำนันตำบลป่าไร่ในขณะนั้น) พร้อมด้วยชาวบ้านได้พากันไปหาพระครูภัทรกรณ์โกวิท (พระอธิการแดง ธมฺมโชโต) เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับวัดช้างให้ โดยขอให้ท่านจัดพระที่มีอายุพรรษาพอสมควรไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านจึงได้ขอให้พระทิม ธมฺมธโร หรือพระครูวิสัยโสภณ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างตามที่ชาวบ้านขอ พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตอนที่ท่านมาอยู่วัดช้างให้ในช่วงแรก ๆ ท่านก็ไป ๆ มา ๆ กับวัดนาประดู่ เพราะกลางวันต้องกลับไปสอนนักธรรมพระภิกษุสามเณร เมื่อท่านมาอยู่วัดช้างให้ได้ประมาณ ๕-๖ เดือน ก็เกิดสงครามมหาบูรพาทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี เพื่อผ่านไปประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ จนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเวลาต่อ รถไฟสายใต้ที่วิ่งจากหาดใหญ่ไปสถานีสุไหงโก-ลก ทหารญี่ปุ่นขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลาย ๆ เที่ยว ทำให้ชาวบ้านพากันแตกตื่นและหวาดกลัวภัยสงครามไม่เป็นอันทำมาหากิน ในขณะนั้นวัดช้างให้ก็อยู่ในสภาพเดิมยังมิได้บูรณะจัดการก่อสร้างสิ่งใดเพิ่มเติม สภาพพื้นที่ของวัดช้างให้ซึ่งตั้งติดอยู่กับทางรถไฟ เพื่อผ่านไปยังจังหวัดยะลา นราธิวาส และชายแดนมาเลเซีย พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ต้องรับภาระหนักต้องจัดหาที่พักหาและอาหารมาเลี้ยงดูผู้คนที่มาขอพักอาศัยพักแรม ในระหว่างเดินทางไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง พระระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) ก็ได้เริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างถาวรวัตถุในวัด อาทิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถ หอฉัน หอระฆัง ตลอดถึงสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวด สถูปที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด กำแพงวัด ซื้อที่ดินขยายอาณาเขตของวัดไปทางทิศตะวันตก และซื้อที่ดินตรงข้ามกับวัดซึ่งตั้งอยู่คนละฟากทางรถไฟ จนวัดช้างให้เจริญวัฒนาจากวัดร้างที่ไร้พระภิกษุจำพรรษากลายเป็นวัดที่คนทั่วโลกต่างรู้จักดั่งเช่นปัจจุบัน วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๐ ตามพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๔ ตอน ๑๕ หน้า ๔๕๑-๒๕๒ เขตวิสุงคามสีมา ยาว ๘๐ เมตร กว้าง ๔๐ เมตร สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ (สมเด็จเจ้าพะโคะ,หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หลวงปู่ทวดวัดช้างให้ ,ท่านองค์ดำ,ท่านลังกา) เป็นพระมหาเถระผู้ทรงอภิญญาที่รู้จักกันดีในประเทศไทย ประวัติที่พิมพ์เผยแพร่กล่าวว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ทวดเชื่อกันว่าพระเครื่องที่สร้างเนื่องด้วยท่านจะมีอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้มีพระเครื่องหลวงปู่ทวดในครอบครอง
วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564
สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก)
สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก) สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก) ตั้งอยู่ที่ถนนพิพิธภักดี มีพื้นที่กว่า80 ไร่ สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อชาวยะลามาก เนื่องจากเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้อมเกล้าถวายช้างเผือก "พระเศวตสุรคชาธาร" ให้เป็นช้างเผือกคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2511 สวนสาธารณะสนามช้างเผือก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวรัชกาลที่ 5 และอนุสาวรีย์พระเศวตสุรคชาธารฯ
พระเศวตสุรคชาธารฯ หรือ คุณพระเศวตฯ เล็ก เป็นช้างพลาย เผือก เกิดในป่าตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชเสด็จราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชขึ้นระวาง ที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2511 พระราชทานนามว่า พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ ศุภลักษณเนตราธิคุณ ทศกุลวิศิษฏพรหมพงศ์ อดุลยวงศ์ตามพหัตถี ประชาชนะสวัสดีวิบุลยศักดิ์ อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้า ๚
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกว่า คุณพระเศวตเล็ก ถูกพบโดยนายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการอ โดยโขลงช้างเดินทางเข้ามาใกล้หมู่บ้านในเวลากลางคืน พอตอนเช้าก็พบเห็นลูกช้างพลัดฝูงอยู่ใต้ถุนบ้าน สันนิษฐานว่าแม่ช้างจะรู้ว่าลูกช้างตัวนี้เป็นช้างสำคัญ และนำมาส่งที่หมู่บ้าน เพื่อเข้ามาสู่พระบารมี ตั้งแต่ยังไม่หย่านม เมื่อนายเจ๊ะเฮงได้เลี้ยงดูลูกช้างนั้นไว้ วันหนึ่งมีสุนัขตัวเมียป่วยหนักใกล้ตาย ได้กระเสือกกระสนมาบริเวณที่คุณพระเศวตเล็กกำลังอาบน้ำอยู่ ได้กินน้ำที่ใช้อาบตัวคุณพระอาการป่วยก็หายไป คงเหลือเพียงอาการปากเบี้ยว และกลายเป็นสุนัขที่คอยคลอเคลียติดตามคุณพระเศวตเล็กตลอดมา ได้ชื่อว่า "เบี้ยว" ทางสำนักพระราชวัง โดยพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ) เจ้ากรมช้างต้นได้ตรวจสอบ พบว่าลูกช้างนั้นมีมงคลลักษณะถูกต้องตามคชลักษณศาสตร์ อยู่ในพรหมพงศ์ ตระกูลช้าง 10 หมู่ ชื่อ “ดามพหัตถี” พระเศวตสุรคชาธารนับเป็นช้างต้นช้างที่สามในรัชกาลปัจจุบัน พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2511 หลังจากพิธีสมโภชขึ้นระวาง และย้ายไปยืนโรงที่โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต นางเบี้ยวก็ได้ติดตามมาด้วย และออกลูกหลานติดตามคุณพระเศวตเล็ก อยู่ภายในพระราชวังดุสิต อีกหลายสิบตัว
พระเศวตสุรคชาธาร เคยเป็นพระสหายในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่เสมอ
พระเศวตสุรคชาธาร ได้ล้มลง ณ โรงช้างต้นเมื่อ พ.ศ. 2520
วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์เป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา เป็นอุโมงค์แบบคอนกรีตเสริมเหล็กใต้ดิน อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์มีขนาดกว้าง 9.00 เมตร สูง 7.00 เมตร ผิวจราจรคู่กว้าง 7.00 เมตร มีทางเดินเท้ากว้างข้างละ 1.00 เมตร มีรางระบายน้ำทั้งสองข้าง โดยความสูงรถเทรนเลอร์สามารถผ่านได้ พร้อมติดตั้งแสงสว่างเพื่อความปลอดภัยและระบบระบายอากาศตามหลักวิศวกรรมสากล รวมความยาวของอุโมงค์ประมาณ 273.00 เมตร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นเงิน 182 ล้านบาท
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ สามารถเชื่อมต่อระหว่างถนนอมรฤทธิ์ตัดกับถนนภักดีดำรงค์ และเชื่อมต่อกับถนนมงคลประจักษ์ทะลุไปสู่ชุมชนเมืองใหม่ หมู่บ้านแกรนด์วิว และเชื่อมต่อกับถนนอัยเยอร์เบอร์จัง สู่ชุมชนและหมู่บ้านตำบลธารน้ำทิพย์ด้วย
ปัจจุบันอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ได้ตกแต่งประดับประดาไฟสวยงาม ทำให้เป็นจุดสนใจและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว จุดเช็คอินสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองเบตง สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้กับประชาชนชาวเบตง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)