แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทริปที่ 9 หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ทริปที่ 9 หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

ทริปที่ 9 หลวงพ่อทวด วัดช้างให้


   วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม เดิมชื่อ วัดช้างให้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย
ประวัติ พระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี ปรารถนาจะหาที่ชัยภูมิที่ดีสร้างเมืองให้ เจ๊ะสิตี ผู้เป็นน้องสาวครอบครอง เมื่อโหรหาฤกษ์ยามได้เวลาท่านเจ้าเมือง ก็เสี่ยงสัตย์อธิษฐานปล่อยช้างตัวสำคัญคู่บ้านคู่เมืองออกเดินป่าหรือเรียกว่าช้างอุปการเพื่อหาชัยภูมิดีสร้างเมืองเจ้าเมือง ก็ยกพลบริวารเดินตามหลังช้างนั้นไปเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่งช้างได้เดินหยุดอยู่ ณ ที่ป่าแห่งหนึ่ง (บริเวณวัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม) แล้วเดินวนเวียนร้องขึ้น ๓ ครั้ง พระยาแก้มดำถือเป็นนิมิตที่ดีที่จะสร้างเมือง ณ ที่ตรงนี้ แต่เมื่อน้องสาวตรวจดูแล้วก็ไม่พอใจ ท่านเจ้าเมืองก็อธิษฐานให้ช้างเดินหาที่ใหม่ต่อไป ช้างได้เดินรอนแรมอีกหลายวันเวลาตกเย็นวันหนึ่งก็หยุดพักพลบริวาร ทางน้องสาวถือโอกาสออกจากที่พักเดินเล่น บังเอิญขณะนั้นมีกระจงสีขาวผ่องตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้านางไป นางอยากได้กระจงตัวขาวตัวนั้นจึงชวนพวกพี่เลี้ยงวิ่งไล่ล้อมจับกระจง กระจงได้วิ่งวกไปวนมาบนเนินทรายขาวสะอาดริมทะเล (ในปัจจุบันคือบริเวณตำบลกรือเซะ) ทันใดนั้นกระจงก็หายไป นางเจ๊ะสิตีรู้สึกชอบที่ตรงนี้มากจึงขอให้พี่ชายสร้างเมืองให้ เมื่อพระยาแก้มดำปลูกสร้างเมืองให้น้องสาวและมอบพลบริวารให้ไว้พอสมควรเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเมืองปะตานี (ปัตตานี) ในขณะพระยาแก้มดำเดินทางกลับมาถึงภูมิประเทศผ่านบริเวณ ที่ช้างบอกให้แต่ครั้งแรกก็รู้สึกเสียดายสถานที่ จึงตกลงใจหยุดพักแรมทำการแผ้วถางป่า และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่า “วัดช้างให้” หลังจากสร้างวัดเรียบร้อยแล้ว พระยาแก้มดำก็ได้กราบนิมนต์สมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) หรือที่ชาวไทรบุรีเรียกว่า "ท่านลังกา" ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่เมืองไทรบุรีมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด)หรือท่านลังกามาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว แต่ท่านก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดช้างให้กับเมืองไทรบุรี แต่ท่านก็ได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ไว้ว่า ....ถ้าท่านมรณภาพลงเมื่อใดก็ให้นำสรีระของท่านกลับมาฌาปนกิจที่วัดช้างให้... ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) มรณภาพลูกศิษย์ก็ได้นำสรีระของท่านกลับมาที่วัดช้างให้เพื่อฌาปนกิจเสร็จแล้ว ก็ฝังอัฐิของท่านไว้ที่วัดช้างให้ อีกส่วนหนึ่งนำกลับไปฝังไว้ที่เมืองไทรบุรี (รัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย) หลังจากกาลมรณภาพของสมเด็จเจ้าพะโคะ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) วัดช้างให้ก็ทรุดโทรมและเสี่อมลงเพราะไม่มีพระอยู่จำพรรษาจนกลายสภาพเป็นวัดร้าง อยู่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระครูมนูญสมณการ วัดพลานุภาพ ได้ชักชวนชาวบ้านเข้าไปพัฒนาวัดช้างให้เพื่อให้สะดวกกับการที่พระจำพรรษา โดยทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้น โดยให้พระช่วง พร้อมพระอนุจร มาอยู่จำพรรษาในปีนั้น เมื่อพระช่วงมาอยู่ก็ได้ดำเนินการสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้นประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง และกุฏิ ๓ หลัง อยู่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระช่วงได้ลาสิกขา ทำให้วัดช้างใหขาดเจ้าอาวาสและผู้นำลงอีกช่วงหนึ่ง นายบุญจันทร์ อินทกาศ (กำนันตำบลป่าไร่ในขณะนั้น) พร้อมด้วยชาวบ้านได้พากันไปหาพระครูภัทรกรณ์โกวิท (พระอธิการแดง ธมฺมโชโต) เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับวัดช้างให้ โดยขอให้ท่านจัดพระที่มีอายุพรรษาพอสมควรไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ท่านจึงได้ขอให้พระทิม ธมฺมธโร หรือพระครูวิสัยโสภณ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างตามที่ชาวบ้านขอ พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตอนที่ท่านมาอยู่วัดช้างให้ในช่วงแรก ๆ ท่านก็ไป ๆ มา ๆ กับวัดนาประดู่ เพราะกลางวันต้องกลับไปสอนนักธรรมพระภิกษุสามเณร เมื่อท่านมาอยู่วัดช้างให้ได้ประมาณ ๕-๖ เดือน ก็เกิดสงครามมหาบูรพาทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี เพื่อผ่านไปประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ จนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเวลาต่อ รถไฟสายใต้ที่วิ่งจากหาดใหญ่ไปสถานีสุไหงโก-ลก ทหารญี่ปุ่นขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลาย ๆ เที่ยว ทำให้ชาวบ้านพากันแตกตื่นและหวาดกลัวภัยสงครามไม่เป็นอันทำมาหากิน ในขณะนั้นวัดช้างให้ก็อยู่ในสภาพเดิมยังมิได้บูรณะจัดการก่อสร้างสิ่งใดเพิ่มเติม สภาพพื้นที่ของวัดช้างให้ซึ่งตั้งติดอยู่กับทางรถไฟ เพื่อผ่านไปยังจังหวัดยะลา นราธิวาส และชายแดนมาเลเซีย พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ต้องรับภาระหนักต้องจัดหาที่พักหาและอาหารมาเลี้ยงดูผู้คนที่มาขอพักอาศัยพักแรม ในระหว่างเดินทางไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง พระระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) ก็ได้เริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างถาวรวัตถุในวัด อาทิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถ หอฉัน หอระฆัง ตลอดถึงสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวด สถูปที่บรรจุอัฐิหลวงพ่อทวด กำแพงวัด ซื้อที่ดินขยายอาณาเขตของวัดไปทางทิศตะวันตก และซื้อที่ดินตรงข้ามกับวัดซึ่งตั้งอยู่คนละฟากทางรถไฟ จนวัดช้างให้เจริญวัฒนาจากวัดร้างที่ไร้พระภิกษุจำพรรษากลายเป็นวัดที่คนทั่วโลกต่างรู้จักดั่งเช่นปัจจุบัน วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๐ ตามพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๔ ตอน ๑๕ หน้า ๔๕๑-๒๕๒ เขตวิสุงคามสีมา ยาว ๘๐ เมตร กว้าง ๔๐ เมตร

















สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ (สมเด็จเจ้าพะโคะ,หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หลวงปู่ทวดวัดช้างให้ ,ท่านองค์ดำ,ท่านลังกา) เป็นพระมหาเถระผู้ทรงอภิญญาที่รู้จักกันดีในประเทศไทย ประวัติที่พิมพ์เผยแพร่กล่าวว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ทวดเชื่อกันว่าพระเครื่องที่สร้างเนื่องด้วยท่านจะมีอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้มีพระเครื่องหลวงปู่ทวดในครอบครอง