วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564

สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก)


   สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก) สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก) ตั้งอยู่ที่ถนนพิพิธภักดี มีพื้นที่กว่า80 ไร่ สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อชาวยะลามาก เนื่องจากเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้อมเกล้าถวายช้างเผือก "พระเศวตสุรคชาธาร" ให้เป็นช้างเผือกคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2511 สวนสาธารณะสนามช้างเผือก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวรัชกาลที่ 5 และอนุสาวรีย์พระเศวตสุรคชาธารฯ
พระเศวตสุรคชาธารฯ หรือ คุณพระเศวตฯ เล็ก เป็นช้างพลาย เผือก เกิดในป่าตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชเสด็จราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชขึ้นระวาง ที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2511 พระราชทานนามว่า พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ ศุภลักษณเนตราธิคุณ ทศกุลวิศิษฏพรหมพงศ์ อดุลยวงศ์ตามพหัตถี ประชาชนะสวัสดีวิบุลยศักดิ์ อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้า ๚
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกว่า คุณพระเศวตเล็ก ถูกพบโดยนายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการอ โดยโขลงช้างเดินทางเข้ามาใกล้หมู่บ้านในเวลากลางคืน พอตอนเช้าก็พบเห็นลูกช้างพลัดฝูงอยู่ใต้ถุนบ้าน สันนิษฐานว่าแม่ช้างจะรู้ว่าลูกช้างตัวนี้เป็นช้างสำคัญ และนำมาส่งที่หมู่บ้าน เพื่อเข้ามาสู่พระบารมี ตั้งแต่ยังไม่หย่านม เมื่อนายเจ๊ะเฮงได้เลี้ยงดูลูกช้างนั้นไว้ วันหนึ่งมีสุนัขตัวเมียป่วยหนักใกล้ตาย ได้กระเสือกกระสนมาบริเวณที่คุณพระเศวตเล็กกำลังอาบน้ำอยู่ ได้กินน้ำที่ใช้อาบตัวคุณพระอาการป่วยก็หายไป คงเหลือเพียงอาการปากเบี้ยว และกลายเป็นสุนัขที่คอยคลอเคลียติดตามคุณพระเศวตเล็กตลอดมา ได้ชื่อว่า "เบี้ยว"
ทางสำนักพระราชวัง โดยพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ) เจ้ากรมช้างต้นได้ตรวจสอบ พบว่าลูกช้างนั้นมีมงคลลักษณะถูกต้องตามคชลักษณศาสตร์ อยู่ในพรหมพงศ์ ตระกูลช้าง 10 หมู่ ชื่อ “ดามพหัตถี” พระเศวตสุรคชาธารนับเป็นช้างต้นช้างที่สามในรัชกาลปัจจุบัน พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2511 หลังจากพิธีสมโภชขึ้นระวาง และย้ายไปยืนโรงที่โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต นางเบี้ยวก็ได้ติดตามมาด้วย และออกลูกหลานติดตามคุณพระเศวตเล็ก อยู่ภายในพระราชวังดุสิต อีกหลายสิบตัว
พระเศวตสุรคชาธาร เคยเป็นพระสหายในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่เสมอ
พระเศวตสุรคชาธาร ได้ล้มลง ณ โรงช้างต้นเมื่อ พ.ศ. 2520



วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564

อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์


   อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์เป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา เป็นอุโมงค์แบบคอนกรีตเสริมเหล็กใต้ดิน อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์มีขนาดกว้าง 9.00 เมตร สูง 7.00 เมตร ผิวจราจรคู่กว้าง 7.00 เมตร มีทางเดินเท้ากว้างข้างละ 1.00 เมตร มีรางระบายน้ำทั้งสองข้าง โดยความสูงรถเทรนเลอร์สามารถผ่านได้ พร้อมติดตั้งแสงสว่างเพื่อความปลอดภัยและระบบระบายอากาศตามหลักวิศวกรรมสากล รวมความยาวของอุโมงค์ประมาณ 273.00 เมตร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นเงิน 182 ล้านบาท
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ สามารถเชื่อมต่อระหว่างถนนอมรฤทธิ์ตัดกับถนนภักดีดำรงค์ และเชื่อมต่อกับถนนมงคลประจักษ์ทะลุไปสู่ชุมชนเมืองใหม่ หมู่บ้านแกรนด์วิว และเชื่อมต่อกับถนนอัยเยอร์เบอร์จัง สู่ชุมชนและหมู่บ้านตำบลธารน้ำทิพย์ด้วย ปัจจุบันอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ได้ตกแต่งประดับประดาไฟสวยงาม ทำให้เป็นจุดสนใจและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว จุดเช็คอินสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองเบตง สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้กับประชาชนชาวเบตง

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

หนาวนี้ที่เบตง This winter in Betong Thailand


   หนาวนี้ที่เบตง มาสัมผัสอากาศหนาวที่เบตง ชมแสง สี ไฟประดับต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2564 บริเวณหน้าศาลาประชาคม แวะพักผ่อนถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกกับตู้ไปรษณีย์ใหญ่ยักษ์ ที่มีความสูงประมาณ 9 เมตร หน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และเป็นจุดแลนมาร์กอีกแห่งหนึ่งของเมืองเบตง


วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

เบตง ประดับไฟต้อนรับปีใหม่ 2021


   บตง ประดับไฟต้อนรับปีใหม่ 2021 บริเวณปากอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์และบริเวณรูปปั้นไก่เบตง ต้อนรับลมหนาวปีใหม่ 2564 ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวเบตงและต่างจังหวัดมาท่องเที่ยวถ่ายรูปกัน









วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564

ทุ่งปอเทืองเบตง @ สะพานเอียง ชุมชนสวนผัก


   ทุ่งปอเทืองเบตง @ สะพานเอียง ชุมชนสวนผักได้สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองเบตง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ไปยืนชมความงดงามและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกท่ามกลางทุ่งปอเทืองที่เหลืองอร่าม ทั้งยังนำตู้ไปรษณีย์จำลอง ตู้โทรศัพท์จำลอง ป้ายชุมชนสวยผัก มาตกแต่งให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเช็คอินสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่า ช่วงวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวจากเบตงและจากต่างจังหวัดแห่กันมาชมความงดงามและถ่ายรูปเก็บบรรยากาศที่ทุ่งปอเทืองสีเหลืองอร่าม ณ ชุมชนสวนผักใจกลางเมืองเบตงแห่งนี้กันอย่างคับคั่ง นอกจากทุ่งปอเทืองที่สวยงามแล้ว ที่ชุมชนสวนผักเทศบาลเมืองเบตง ยังมีร้านอาหารชื่อร้านสะพานเอียง ของกลุ่มสะพานเอียงของชุมชนไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนสวนผัก
































"ปอเทือง" ดอกไม้สัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดี “ปอเทือง” เป็นต้นไม้ในพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เรื่องการปรับปรุงดิน ทรงแนะนำให้แก่เกษตรกรทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยพืชสดใช้เอง เพื่อนำมาใช้แก้ความเป็นกรดให้แก่ดินของเกษตรกร ทดแทนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนที่มีราคาแพง ด้วยพระอัจฉริยภาพในการแนะนำด้านการเกษตร จากการศึกษาพบว่า ต้นปอเทือง เป็นพืชที่มีคุณสมบัติในการบำรุงดิน การหว่านปอเทือง 1 ครั้ง เท่ากับการปรับปรุงโครงสร้างดินได้ถึง 15 ปีและเป็นปุ๋ยพืชสดที่ดีมากในการปรับปรุงดินให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ ด้วย

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เทศบาลเมืองเบตง


   ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เทศบาลเมืองเบตง ของฝากหลากหลายที่เป็น OTOP ของชุมชนในเมืองเบตง จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเบตง และสินค้าของฝากอาทิเช่น หมี่เบตง เสื้อสัญลักษณ์เบตง โกปี้โบราณเบตง กล้วยฉาบเบตง กล้วยกรอบเบตง โรตีกรอบเบตง แมสเบตง ไก่เบตงตุ๋นต้าลิหวัง ปลาส้มบ้านคอกช้าง เป็นต้น เป็นการร่วมมือของเทศบาลเบตงและกลุ่มชุมชนต่างๆในพื้นที่ ณ อาคารจำลอง ๑๑๑ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง






วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ทริป 8.1 อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ผาพญางู เขารังเกียบ


   ทริป 8.1 อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ผาพญางู เขารังเกียบ ต่อเนื่องจากทริปที่8 เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว มีระยะทางทั้งหมด 1400 เมตร โดยจะมีฐานความรู้ต่างๆ















หินเทพพินิจหรือหินหน้าคน หินที่มีลักษณะคล้ายใบหน้ามนุษย์ ซึ่งหินก้อนเดียวกันสามารถมองเห็นทั้งสองด้าน คล้ายใบหน้ามนุษย์ที่มีความแตกต่างกันคือด้านแรกคล้ายใบหน้าคนหนุ่มอายุประมาณ 40 ปี ส่วนอีกด้านหนึ่งคล้ายใบหน้าคนแก่อายุประมาณ 60 ปี เชื่อกันว่าหินก้อนนี้มีเทพสถิตคอยเฝ้ามองมิให้ผู้ใดแอบนำสิ่งของที่ไม่ได้รับอนุญาตินำออกไปจากสถานที่แห่งนี้ หินเทพพินิจดังกล่าวนับว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านทรายขาว ให้ความเคารพนับถือด้วยเช่นกัน















บ่อธารน้ำทิพย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นบ่อน้ำโบราณที่ชุมชนในอดีตเคยนำน้ำมาใช้ประโยชน์ ว่ากันว่าน้ำในบ่อนี้ได้ไหลผ่านชั้นหินใต้ดิน และผ่านแร่ต่างๆ รวมถึงรากไม้หลายชนิด ไหลมารวมกันที่บ่อแห่งนี้ จนกลายเป็นน้ำสมุนไพร สามารถนำน้ำมารักษาโรคและใช้เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อ อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวได้นำตัวอย่างน้ำไปให้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิยาเขตปัตตานีทำการวิเคราะห์ผล ปรากฎว่าสามารถดื่มได้ตามหลักมาตรฐานกรมอนามัย และได้ออกหนังสือรับรอง เลขที่ 23/55 ลงวันที่ 27/12/55 เป็นที่เรียบร้อย















ผาพญางู ตั้งอยู่ริมทางบริเวณทางขึ้นจุดชมวิวเขารังเกียบ ซึ่งเป็นทางถนนซีเมนต์ซึ่งมีความคดเคี้ยวสูงชัน ผาพญางู (phaya ngu cliff) เป็นก้อนหินผาขนาดใหญ่ ที่มีความสูงราวตึก 3-4 ชั้น มีรูปลักษณะคล้ายกับหัวงูขนาดใหญ่โผล่พ้นออกมาจากหน้าผา















ถ้ำวิปัสสนาเขาหินช้าง เป็นที่ประดิษฐ์สถานของพระพุทธรูปแกะสลักจากแก่นไม้ปางมารวิชัยหรือชนะมาร ลักษณะพระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาะิ โดยพระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขาววางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณี สันนิฐานว่ามีอายุมากกว่า 200 ปี จากคำบอกเล่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่นั่งวิปปัสนาของหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด และท่านอาจารย์นอง อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว ถ้ำแห่งนี้จึงถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในตำบลทรายขาว และตำบลที่อยู่ใกล้เคียงได้ให้ความเคารพนับถือ















หินสลักพระนามาภิไธย (หินเต่า) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทรื ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จทรงลงพระนามาภิไธย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2514
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเบิกพระเนตร พระพุทธมหามุนินทโลกนาถ พร้อมทรงลงพระนามาภิไธย เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2556















พระพุทธมหามุนินทโลกนาถ พระพุทธรูปปางยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งสร้างขึ้นจากดำริของ “พระครูธรรมกิจโกศล” หรือ “พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว พระปางยมกปาฏิหาริย์ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับนั่งบนบัลลังก์ ห้อยพระบาททั้งสอง วางบนดอกบัวที่รองรับเข่า ยกตั้งแบบประทับบนพระเก้าอี้ พระหัตถ์ซ้ายวางบนตัก พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมออก จีบนิ้วพระหัตถ์ ปัจจุบันพระปางยมกปาฏิหาริย์นับเป็นหนึ่งในศาสนสถานที่สำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพุทธประวัตินั้น มีความว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยน้ำปานะเสร็จ ทรงรับสั่งให้นายคัณฑะ นำเม็ดมะม่วงไปปลูก เมื่อทรงล้างพระหัตถ์ลงบนปากหลุม เม็ดมะม่วงก็เจริญเติบโต ออกผลเต็มต้นเป็นอัศจรรย์ ต้นมะม่วงนั้นมีชื่อว่า คัณฑามพฤกษ์ ตามชื่อของนายคัณฑะ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตจงกรมแก้ว ในอากาศเหนือต้นมะม่วง แล้วเสด็จขึ้นสู่ที่จงกรมนั้น ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ หรือการทำปาฏิหาริย์ให้บังเกิดเป็นคู่ ๆ โดยวิธีต่างๆ คือมีท่อน้ำและท่อไฟพุ่งมา จากส่วนต่างๆ ของพระวรกายสลับกันไป ท่อไฟที่พุ่งออกมานั้นมีฉัพพรรณรังสี คือมี 6 สีสลับกัน เมื่อกระทบกับสายน้ำ มีแสงสะท้อนสวยงามมาก ทรงเนรมิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาอีกพระองค์หนึ่ง ทรงให้พุทธเนรมิตแสดงอาการ สลับกันกับพระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงยืน พระพุทธเนรมิตก็เสด็จจงกรม เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจงกรม พระพุทธเนรมิตก็ทรงยืน เมื่อทรงตั้งปัญหาถาม พระพุทธเนรมิตก็ตรัสวิสัชนาแก้ สลับกันไป