โบราณสถานถ้ำศิลป ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านบันนังลูวา ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ประเทศไทย ประวัติการศึกษาค้นพบเมือ่พ.ศ.2468 โดยหะยีแวกะจิ ฆอรี ได้แจ้งกำนันตำบลหน้าถ้ำว่าได้พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น และชิ้นส่วนภาชนะดินเผาภายในถ้ำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ขุนศิลปกรรมพิเศษ(แปลก เจริญสิน)ศึกษาธิการจังหวัดยะลาได้สั่งให้นายถ่อง แก้วนิตย์ ผู้ควบคุมกองลูกเสือโรงเรียนประจำจังหวัดยะลาพาลูกเสือขึ้นไปสำรวจ ขุนศิลปกรรมพิเศษได้ขึ้นไปสำรวจถ้ำในเดือนเดียวกันและพบภาพเขียนสี จึงแจ้งให้กรมศิลปากร ดังนั้นเพื่อเป็นเกียรติแก่กรมศิลปพิเศษ ทางการจึงตั้งชื่อว่า "ถ้ำศิลป"
ถ้ำศิลป ตั้งอยู่ทางทิศใต้บนเขาหินปูน "เขาถ้ำพระนอน" ซึ่งเป็นเขาเดียวกับวัดคูหาภิมุข ห่่างจากแม่น้ำปัตตานีประมาณ 1 กิโลเมตร ถ้ำอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 28.20 เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นโถงกว้างขนาด 28 เมตร ยาว 32.70 เมตร พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ 1. ภาพเขียนสี ประกอบด้วยภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ เขียนด้วยสีดำเป็นภาพคนกำลังล่าสัตว์โดยทำท่าเป่าลูกดอกและยิงธนู และภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์เขียนด้วยสี แดง ดำ ขาวเป็นภาพเรื่องรางพุทธประวัติและสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนา เช่นภาพหมู่พระพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงกัน พุทธประวัติตอนธิดาพญามาร ดวงดารา 8ดวงเป็นต้น โดยมีลักษณะศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะศรีวิชัยและสุโขทัย สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นครั้งแรกราวพุทธศตวรรษที่ 15 และเขียนเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20
2. หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ.2548 พบหลักฐานที่สำคัญได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินลายเชือกทาบ ลูกปัดเปลือกหอย เครื่องมือกระดูกสัตว์ปลายแหลม กำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ราว 3000ปีมาแล้ว และพบหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์เช่น ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินดิบ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเตาปะโอ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ 17-20 เป็นต้น
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนถ้ำศิลปเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่52 ตอนที่75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้าที่3695 ภาพเขียนสีถ้ำศิลปบนผนังทางทิศตะวันตก เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวพุทธประวัติ (ประวัติของพระพุทธเจ้า)ใช้สีดำ แดง ขาวในการเขียนภาพ สภาพค่อนข้างลบเลือน ตัวอย่างภาพที่พอมองเห็นในปัจจุบันได้แก่ ภาพหมู่พระพุทธเจ้าและพระสาวกประทับนั่งเรียงกัน ภาพพระพุทธรูปปางสมาธิมีนาคปรก(สันนิษฐานว่าเป็นตอนพระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขภายหลังการตรัสรู้ โดยมีพญานาคมุจลินทร์แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้า) ด้านล่างเป็นภาพขนาดเล็กอาจเป็นภาพของพลมาร ถัดไปเป็นภาพพระพุทธเจ้าปางสมาธิมีธิดามาร 3องค์ได้แก่นางตัณหา นางราคา และนางอรดี(สันนิษฐานว่าเป็นตอนพระพุทธเจ้าผจญมาร) ภาพพระพุทธเจ้าปางประทานอภัยในอริยาบถเดินลีลา ภาพพระพุทธเจ้าปางมารวิชัยบนรัตนบัลลังก์ มีพระสาวกขนาบข้างเป็นต้น โดยภาพมีลักษณะได้รับอิทธิพลจากศิลปะศรีวิชัยและสุโขทัย สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นครั้งแรกราวพุทธศตวรรษที่15 และเขียนเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงศตวรรษที่19-20
ภาพเขียนสีถ้ำศิลปบนผนังทางทิศตะวันออก แบ่งภาพออกเป็น2 กลุ่มได้แก่
1. กลุ่มภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เขียนด้วยสีดำ แสดงภาพกลุ่มคนกำลังล่าสัตว์หันหน้าไปทางทิศใต้ โดยตรงกลางทำเป็นภาพคนกำลังเป่าลูกดอก คนยืน คนยืนแอ่นท้อง คนยืนโก่งคันธนู ส่วนด้านคนเป่าลูกดอกเป็นภาพคนนั่งขนาดเล็ก
2.กลุ่มภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์ เขียนด้วยสีดำ แดง ขาว เป็นภาพเรื่องราวในพุทธประวัติและสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนา สภาพค่อนข้างลบเลือน สามารถมองเห็นเพียงบางส่วนได้แก่ ภาพดวงดาราแปดดวง ภาพคนสองคนนั่งหันหน้าเข้าหากัน ภาพล่างสุดตอนกลางเป็นภาพคนนั่งสามคน เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น