วัดเบตงคือชื่อเดิมของวัดพุทธาธิวาส ได้รับอนุญาติให้สร้างเมื่อปี พ.ศ.2460 โดยมีคณะผู้ริเริ่มดำเนินการสร้างคือพระพิทักษ์ธานี (เล็ก) นายอำเภอเบตง นายพุ่ม คชฤทธิ์ นายกิมซุ้ย ฟุ้งเสถียร และนายผล สุภาพ ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีเขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร และได้ผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2510 วัดแห่งนี้ตั้งเด่นสง่าอยู่บนเนินเขาที่ลาดเอียงลงมาจดถนนรัตนกิจด้านทิศเหนือ มีเนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 30ตารางวา โดดเด่นด้านศิลปะการจัดวางสถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธธรรมกายมงคล ปยุรเกศานนท์สุพพิธาน พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หรีอกุฎิ ได้อย่างมีชั้นเชิงและเหมาะสมตามสภาพความลาดเอียง ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะจัดวางสถาปัตยกรรมเหล่านี้ให้ลดหลั่นกันดังที่เห็น ปัจจุบันวัดพุทธาธิวาสเป็นที่ประดิษฐานของพระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ พระพุทธธรรมกายมงคล ปยุรเกศานนนท์สุพพิธาน และวิหารหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
พระพุทธธรรมกายมงคล ปยุรเกศานนนท์สุพพิธาน เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางพระธรรมกาย ขนาดหน้าตักกว้าง 9เมตร 9เซนติเมตร สูง 14 เมตร 39 เซนติเมตร พระวรกายมีความหนา 8 เมตร 36 เซนติเมตร มีพระศก 356 องค์ ฐานบัวคว่ำบัวหงาย กว้าง 13 เมตร 6เซนติเมตร มีกลีบดอกบัว 29 คู่
พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่ในวัดพุทธาธิวาส นับเป็นปูชนียสถานแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามแบบศิลปะศรีวิชัยประยุกต์ ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ด้วยมีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร วัตถุประสงค์ของการสร้างเจดีย์องค์นี้เพื่อถวายเป็นราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535 โดยมีนายสวัสดิ์ โชคติพานิช ประธารศาลฎีกาในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างและพระอาจารย์ ม.ร.ว. มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกพระราชวัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมไทยเป็นผู้ออกแบบ
ชื่อพระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ซึ่งมีความหมายว่าพระพุทธเจ้าทรงประกาศเป็นชื่อของเจดีย์แบบศรีวิชัยประยุกต์องค์นี้ ซึ่งไม่ว่าจะมองจากจุดไหนของเบตงก็จะเห็นตั้งเด่นสง่าอยู่บนยอดเขาบริเวณวัดพุทธาธิวาส ปลายยอดเจดีย์ส่องแสงสีทองประกายระยิบรยับยามเมื่อต้องแสงอาทิตย์ ดูแล้วโดดเด่นสวยงามมาก ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชา
หลวงปู่ทวดนิ้วกระดก ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยจำลองแบบพิมพ์เหมือนหลวงพ่อทวด องค์ดั้งเดิม ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงพ่อทวด วัดพุทธาธิวาส ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อครั้งจัดสร้างพระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน (เบตง) 2505 มีพุทธศิลป์ที่แปลกจากองค์หลวงพ่อทวดโดยทั่วไป คือมือทั้งสองข้างประทับบนหัวเข่า นิ้วชี้มือขวาชี้ลงบนพื้นดิน ผู้จัดสร้างพระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน เบตง พ.ศ.2505 ได้ให้เหตุผลในการสร้างพระบูชาหลวงพ่อทวด พิมพ์นิ้วกระดกว่าเนื่องจากสมัยนั้นเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ อ.เบตง จึงได้จัดสร้างองค์หลวงพ่อทวดนี้ขึ้น เพื่อปกป้องพื้นแผ่นดินเบตง และเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจนำความสงบสุขมาสู่ประชาชน จึงได้ขออนุญาตพระคุณเจ้า พระสุนทรวิสุทธนานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพุทธาธิวาส เพื่อจัดสร้าง พระหลวงพ่อทวด รูปหล่อลอยองค์ เลขใต้ฐาน พิมพ์นิ้วกระดกขึ้น หลวงปู่ทวดนิ้วกระดกจึงถือเป็นเอกลักษณ์ของหลวงปู่ทวดจากเมืองเบตง จังหวัดยะลา
สาระ บันเทิง การท่องเที่ยว กิจกรรมทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องรอบตัวเรา และเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยของเมืองเบตง สถานที่ต่างๆที่เคยไปมา อาหารการกินของคนท้องถิ่น เผยแพร่เรื่องราวต่างๆในมุมมองของชีวิตผ่านสายตาของท่านผู้ชมทุกคน กับเรื่องราวต่างๆที่ได้ถ่ายทอดออกมาซึ่งอาจมีประโยชน์ด้านข่าวสารและเป็นประสบการณ์ความทรงจำของชีวิตเรา
วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564
วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564
สวนสุดสยาม สวนสาธารณะเทศบาลเมืองเบตง
สวนสุดสยาม สวนสาธารณะเทศบาลเมืองเบตง มีขนาดพื้นที่ 76 ไร่ บนเนินเขาใจกลางเมืองเบตงแห่งนี้ เป็นจุดชมทัศนียภาพที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองเบตงได้อย่างชัดเจน ภายในสวนสุดสยามร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้น ไม้ดอกนานาพันธุ์ และเป็นจุดศูนย์กลางซึ่งล้อมรอบด้วยสถานที่ต่างๆเช่น ศาลาภิรมย์ทัศน์ สนามเด็กเล่น สนามกีฬากาญจนาภิเษก สวนสุขภาพ ร.9 สระว่ายน้ำคงคา สนามกีฬากลางเทศบาลเมืองเบตง และพิพิธภัณฑ์เมืองเบตง ด้วยความร่มรื่นของสวนแห่งนี้ จึงนับเป็นปอดแห่งหนึ่งของเมืองเบตง ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงสถานที่ออกกำลังกายในตอนเช้าตรู่และตอนเย็น ผู้ที่ได้มาสัมผัสทัศนียภาพของสวนสุดสยามแห่งนี้ จะต้องประทับใจกับบรรยากาศที่สดชื่นด้วยกลิ่นอายของธรรมชาติไม่มากก็น้อยแน่นอน
วัตถุประสงค์ของสวนสุดสยามเทศบาลเมืองเบตง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นภายใต้บริบทของเมืองเบตง โดยคำนึงถึงผู้ใช้ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย พัฒนาเมืองเบตงให้เป็นเมืองน่าอยู่ และพัฒนาพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า เป็นสวนสาธารณะที่มีศักยภาพทั้งทางด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ พักผ่อนหย่อนใจ สามารถรองรับกิจกรรมนันทการ และการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงกีฬา
ประวัติสวนสุขภาพ ร.9 เทศบาลเมืองเบตง สวนสุขภาพ ร.9 จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2560 เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 โดยสวนสุขภาพ ร.9 เป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะเทศบาลเมืองเบตง มีเนื้อที่ประมาณ 26 ไร่ และในปี พ.ศ.2562 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 10,000,000 บาท จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา ในการปรับปรุงสวนสุขภาพ ร.9 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564
พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง 2021 Betong City Museum Thailand 2021
พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง 2021 พิพิธภัณฑ์เมืองเบตงได้จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2548 เพื่อให้ท้องถิ่นได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของคนในพื้นที่มากขึ้น พิพิธภัณฑ์เบตง มี 5 ชั้น โดยส่วนของการจัดแสดงมี 2 ชั้น ซึ่งชั้นล่างเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ในสมัยเก่า เช่น ถ้วยชาม เครื่องเคลือบ ตู้ เตียง ตะเกียงเก่า โดยนำมาจัดแสดงไว้ในตู้ไม้กระจกใส ตั้งอยู่หน้าบันไดทางขึ้น ส่วนชั้นที่ 2 มีการจัดแสดงรูปเก่า ๆ หนังสือพิมพ์ประวัติความเป็นมา โดยแขวนไว้บนฝาผนังของห้อง และมีการติดบอร์ดแสดงแหล่งข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของอำเภอเบตง นอกจากนี้ชั้นที่ 3-5 ยังเป็นหอคอยชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวเมืองเบตงทั้งเมืองได้ โดยเมืองเบตงจะเป็นรูปแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ
เวลาเปิดทำการ วันอังคาร-วันอาทิตย์
เวลาเช้า 8:30-12:00 น.
พักเที่ยง 12:00-13:00 น.
เวลาบ่าย 13:00-16:30 น.
หยุดทำการทุกวันจันทร์
จือปู คือภาชนะสำหรับใส่อาหารของชาวประมง ยามออกทะเล ทำจากไม้เนื้อแข็ง ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่คือตัวจือปูกับฝาปิด ตัวจือปูมีลักษณะกลมรี คอดเล็กลงต่อกับฐานกลมผายออก ด้านในเป็นแอ่งเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-50 เซนติเมตร แอ่งตรงกลางนี้เป็นที่ใส่ข้าวปลาอาหาร ฝาปิดรูปกระทะคว่ำกรมรี ภายในเจาะเป็นแอ่งลึกเหมือนตัวจือปู เมื่อ 2 ส่วนประกบกัน ภายในเป็นโพรงจุอาหารได้มากพอกิน 1 วัน ตรงฐานรองจะเจาะรู 4 รูอยู่คนละมุม ใช้เชือกหรือหวายร้อยไขว้กันขึันมาจากก้นเป็นหูหิ้ว จือปูเก็บอาหารได้มิดชิด แม้ตกจากเรือก็ไม่จม สมัยก่อนชาวประมงจึงนิยมใช้กันมาก
วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564
เส้นทางเมืองเบตง-บ้าน กม 7-สนามบินเบตง 2021
เส้นทางเมืองเบตง-บ้าน กม 7-สนามบินเบตง 2021 สนามบินเบตงกำลังจะเปิดใช้บริการ ดังนั้นจึงต้องอัปเดตข่าวสารเส้นทางต่างๆที่จะเดินทางเข้าไปยังสนามบินเบตง โดยเส้นทางจากเมืองเบตงไปยังสนามบินเบตงสามารถไปได้ 2 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 จากเมืองเบตงไปทางยะรม (จันทรัตน์) เส้นทางหมายเลข 4326,4062 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที
เส้นทางที่ 2 จากเมืองเบตงไปทางเส้นทางหมายเลข 410 ตัดเข้าไปทางบ้าน กม.7 เส้นทางหลวงชนบท ยล 3026 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที
วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
สกายวอล์คอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา 2021
สกายวอล์คอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา 2021 ตอนนี้ใครไปสกายวอล์คต้องซื้อถุงเท้าใส่ขึ้นไปสกายวอล์คนะครับ คู่ละ 30 บาท ต้องสวมหน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิ และต้องเซ็นชื่อถึงจะขึ้นไปชมสกายวอล์คอัยเยอร์เวงได้ เวลาเปิด 5:30-16:30 ทะเลหมอกอัยเยอร์เวงยังสวยงาม ชมแสงอาทิตย์ขึ้นยามเช้า
วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
อุโมงค์ปิยะมิตรเบตง #EP5 จุดชมวิวทะเลหมอกหมอกปิยะมิตร
อุโมงค์ปิยะมิตรเบตง #EP5 จุดชมวิวทะเลหมอกหมอกปิยะมิตร คลิปนี้จะขอแนะนำจุดชมวิวทะเลหมอกปิยะมิตร เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักท่องเที่่ยวสามารถมาถ่ายรูปเก็บภาพสวยๆกับแสงตะวันยามเช้า ในช่วงหน้าหนาวจะสามารถเห็นทะเลหมอกหมอกได้อีกด้วย ปัจจปันเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้าไปกางเต้นท์รอดูพระอาทิตย์ขึ้นกัน เริ่มจะเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยว จุดชมวิวทะเลหมอกปิยะมิตรอยู่ไม่ไกลจากอุโมงค์ปิยะมิตร ขับรถจากอุโมงค์ปิยะมิตรประมาณ 5 นาที ติดกับถนนใช้เส้นทางสายบน อุโมงค์ปิยะมิตร-สวนดอกไม้เบตง
วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
อุโมงค์ปิยะมิตรเบตง 2021# EP4 สำรวจอุโมงค์ปิยะมิตร
อุโมงค์ปิยะมิตรเบตง 2021# EP4 สำรวจอุโมงค์ปิยะมิตร มาถึง EP4 แล้ว จะพาไปสำรวจอุโมงค์ปิยะมิตรกัน โดยเริ่มต้นที่ปากอุโมงค์ที่ 6 ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่มีความยาวมากที่สุด ปากอุโมงค์ที่ 6 จะตั้งอยู่บนเขา ปกตินักท่องเที่ยวส่วนมากจะเข้าไปทางปากอุโมงค์ 3 ภายในอุโมงค์ปิยะมิตรจะติดตั้งแสงสว่างตลอดทั้งอุโมงค์ เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ปัจจุบันอุโมงค์ที่สามารถเปิดให้เข้าท่องเที่ยวชมได้มีทั้งหมด 5 อุโมงค์คือ
1. อุโมงค์หมายเลข 1 ทางไปต้นไทรยักษ์หรือต้นไม้พันปี
2. อุโมงค์หมายเลข 3 ห้องครัวและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อุโมงค์ปิยะมิตร
3. อุโมงค์หมายเลข 4 ทางไปพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปิยะมิตร
4. อุโมงค์หมายเลข 5
5. อุโมงค์หมายเลข 6 ปากอุโมงค์อยู่บนเขา เป็นอุโมงค์ที่มีความยาวมากที่สุด
อุโมงค์ปิยะมิตร ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เข้าทางเดียวกับบ่อน้ำร้อนเบตงและน้ำตกอินทสร อยู่เลยบ่อน้ำร้อนอีก 3 กิโลเมตร เป็นอุโมงค์ที่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรืออดีตกลุ่มโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) สร้างขึ้นเป็นฐานของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เขต 2 เมื่อปี พ.ศ. 2519 ใช้หลบการโจมตีทางอากาศและสะสมเสบียง การสร้างใช้กำลังคน 40 - 50 คน ขุดเข้าไปในภูเขา และใช้เวลาเพียง 3 เดือน จึงแล้วเสร็จ อุโมงค์มีความกว้าง 50-60 ฟุต ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถจุคนได้เกือบ 200 คน มีทางเข้าออกทั้งหมด 9 ทาง เชื่อมต่อถึงกันหมด ปัจจุบันเหลือ 6 ทาง ภายในมีสถานีวิทยุของ จคม. ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง มีซอกมีมุมให้เลี้ยวลัดเลาะ ด้านบนเป็นป่ารกมีต้นไม้ใหญ่มากมายปกคลุม ยากแก่การค้นหาและถูกค้นพบโดยทหารฝ่ายรัฐบาล ในปัจจุบันได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดบริการให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00 - 16.30 น อากาศภายในเย็นสบายไม่อึดอัด บริเวณทางเข้าสองข้างทางเต็มไปด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์ และมีแอ่งน้ำที่ไหลมาจากภูเขา ด้านนอกอุโมงค์ซึ่งเคยเป็นลานฝึกทหารจัดให้มีนิทรรศการแสดงภาพและเรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตในป่า นอกจากนี้ ยังมีเห็ดและยาสมุนไพรจากป่าจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)